วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

นวัตกรรมการเรียนรู้

นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การศึกษาที่แท้

ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ผนวกกับความพากเพียรอุตสาหะได้รังสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาในโลกอยู่ตลอดเวลา เราเรียกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ว่า นวัตกรรม นวัตกรรมตรงกับคำว่า “innovation” ในภาษาอังกฤษ โดยที่ในภาษาอังกฤษคำกริยาว่า innovate นั้นมีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า innovare ซึ่งแปลว่า “to renew” หรือ ทำขึ้นมาใหม่ คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิด คิดว่านวัตกรรมเป็นคำที่เกี่ยวข้องเฉพาะสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในวงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเรื่องนี้สมเด็จพระเทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอธิบายไว้ในการแสดงปาฐกถาเรื่อง เทคโนโลยี นวัตกรรม กับการพัฒนาประเทศ ในการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 มีใจความตอนหนึ่งว่า

                    “... คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้ายิ่งใน ภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรมของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม...

                นวัตกรรมทางด้านการเรียนรู้ก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัย วิถีคิด ที่ออกนอกกรอบเดิมพอสมควร คือจะต้องออกนอก ร่อง หรือช่องทางเดิมๆที่เคยชิน เรียกได้ว่าจะต้องพลิกกระบวนทัศน์ (shift paradigm) ที่มีอยู่เดิมเกี่ยวกับการเรียนรู้เสียใหม่ จากที่เคยเข้าใจว่า การเรียนรู้ก็คือการศึกษาเพียงเพื่อให้ได้รู้ไว้ มาเป็นการเรียนรู้ที่นำมาใช้พัฒนางาน พัฒนาชีวิต ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบหลังนี้จึงเป็นความรู้ชนิดที่แนบแน่นอยู่กับงาน เกี่ยวพันอยู่กับปัญหา เป็นความรู้ที่มีบริบท (context-riched) ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ลอยๆ ไม่สัมพันธ์หรืออิงอยู่กับบริบทใดๆ (contextless) การเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาตัวโจทย์ขึ้นมาก่อนโดยใช้ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นหลัก เรียกได้ว่ามีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการเรียนรู้นี้ขึ้น การเรียนรู้ประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบอุปสงค์ (demand-side learning) คือ มีความประสงค์ มีความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง แล้วจึงเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบที่เราคุ้นเคยกันดีในระบบการศึกษา ที่มักจะเน้นการถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่นักเรียน คือจากผู้รู้ไปสู่ผู้เรียน คือมีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบอุปทาน (supply-side learning) ซึ่งข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนของการเรียนรู้แบบนี้ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูต้องคอยป้อน(ยัด) ความรู้เหล่านี้เข้าปาก(หัว) ผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา โดยมักจะใช้การประเมิน การวัดผล หรือการสอบ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ ผลัก หรือ ดัน ให้คนหันมาสนใจตั้งใจเรียน การเรียนรู้แบบนี้ครูจึงมีหน้าที่หลักในการ ผลัก หรือ “push” ให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่าที่จะปล่อยให้ผู้เรียน ฉุด หรือ ดึง(pull) ตัวเองไปโดยใช้ความสนใจหรือความต้องการที่จะเรียนรู้เป็นตัวดึง ซึ่งก็คือแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเองโดยไม่ต้องให้ใครมาออกแรงผลัก ออกแรงดันดังเช่นที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

                การเรียนรู้ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่นี้จะสร้างมุมมองที่ค่อนข้างจะเป็นองค์รวม (holistic view) คือมองเห็นงาน เห็นปัญหา เห็นชีวิต ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน มองว่าปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของงาน และมองเห็นงานเป็นกระบวนการที่สำคัญของชีวิต จนอาจเข้าใจลึกซึ้งถึงขั้นที่เห็นว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ตามคำกล่าวของท่านอาจารย์พุทธทาสเลยทีเดียว ในขณะที่กระบวนทัศน์เดิมจะมองงานด้วยสายตาที่คับแคบกว่ามาก คือมองเห็นงานว่าเป็นเรื่องของการทำมาหากินประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้เงินมาสำหรับจับจ่ายใช้สอยเพียงเท่านั้น ผู้ที่คิดเช่นนี้ มักจะเห็นงานว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เป็นสิ่งที่ต้องทนทำไป เพียงเพื่อให้ได้เงินมาจึงจะมีความสุข หลายคนถึงกับบ่นกับตัวเองว่า เมื่อไรจะถึงวันหยุด เมื่อไรจะถึงวันเสาร์-อาทิตย์ (สำหรับคนที่ทำงานออฟฟิศ หรือรับราชการ) ซึ่งการคิดแบบนี้จะเห็นได้ทันทีว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีชีวิตที่ ขาดทุน ไปทุกๆสัปดาห์ เพราะสัปดาห์หนึ่งๆ จำต้องทนทุกข์ทรมานไป 5 วัน โดยที่รู้สึกสุขได้เพียงแค่ 2 วัน เรียกว่าต้องขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆทุกสัปดาห์ แต่ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่นี้ที่มองเห็นงาน ปัญหา และชีวิตว่าเป็นสิ่งเดียวกัน จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพร่ำสอนอยู่เสมอว่า ความสุขที่แท้ มีอยู่แต่ในงาน

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งสำหรับสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ แต่ลำพังเพียงแค่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือวิถีคิด ก็มิได้หมายความว่านวัตกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เองโดยปริยาย จำเป็นจะต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบอื่นๆมาอุดหนุนเกื้อกูลจึงจะประสบผลสำเร็จ ในบทความนี้จะขอหยิบยก 3 องค์ประกอบหลัก ที่ถือว่าจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แก่ (1) เวลา (2) เวที และ (3) ไมตรี

                องค์ประกอบแรกที่จะขอพูดถึงก็คือเรื่องของ เวลา พูดง่ายๆและตรงที่สุดก็คือถ้าไม่มีเวลา การเรียนรู้ก็ไม่เกิดหรือเกิดได้ยาก ในหลายๆที่เรามักจะพบเห็นคนที่มีงานหรือที่ทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดทั้งวันจนดูเหมือนว่าไม่มีเวลาสำหรับใช้วิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหาหรือสรุปบทเรียนใดๆเลย ทั้งๆที่ในปัจจุบันนี้เราก็มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีไปอย่างมากมาย ชีวิตน่าจะสะดวกสบายและมีเวลามากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าคนเรามีกลับมีเวลาว่างน้อยลง ความเจริญทางด้านต่างๆมีการพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง ในบางจังหวัดบางพื้นที่มีการจัดระบบชลประทานที่ดีทำให้ชาวนามีน้ำเพียงพอที่จะทำนาได้ปีละกว่า 3 ครั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นว่า ชาวนาไม่ได้มีสถานภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ พวกเขากลับมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลง สุขภาพเสื่อมโทรมเพราะทำงานหนักขึ้น สัมผัสกับสารเคมีมากขึ้น มีเวลาให้กับครอบครัวน้อยลง จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เวลาคือปัจจัยที่สำคัญอันดับแรกที่จำเป็นยิ่งสำหรับการเรียนรู้ องค์กร ชุมชน หรือครอบครัวใดที่คนมัวแต่ยุ่งอยู่ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า โงหัวไม่ขึ้น จะทำให้หมดโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และไม่มีเวลาสำหรับใช้คิดสร้างสรรค์ได้เลย สภาพเช่นเดียวกันนี้ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของสถาบันที่เป็นผู้นำเรื่องการเรียนรู้เช่นกัน นักศึกษาปริญญาโทส่วนใหญ่ต้องทำงานไปและเรียนไปด้วยควบคู่กัน หลายคนไม่เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะเข้าชั้นเรียน หรือไม่มีเวลาสำหรับย่อย สิ่งที่ได้รับฟังหรืออ่านมา บางคนก็ไม่มีเวลาที่จะร่วมทำงานกลุ่ม หรือวิเคราะห์กรณีศึกษาที่อาจารย์มอบหมายให้ ถึงแม้ตัวอาจารย์เองก็เช่นกันหลายคนยุ่งอยู่กับงานสอนทั้งที่เป็นโครงการปกติและโครงการพิเศษต่างๆ จนไม่มีเวลาว่างพอที่จะไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มเติม หรือให้เวลาในการพบปะพูดคุยกับนักศึกษานอกชั้นเรียนได้เลย จากตัวอย่างทั้งหมดที่นี้คงจะเห็นแล้วว่า เวลามีความสำคัญต่อการเรียนรู้เพียงใด นวัตกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่า เวลา

                นอกเหนือจากเรื่องเวลาแล้ว องค์ประกอบตัวต่อไปที่จะช่วยสนับสนุนและสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ได้ก็คือ จะต้องจัดให้มี พื้นที่ หรือเวที ไว้ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เวทีการเรียนรู้นี้ ถ้าจะให้ดีควรมีรูปแบบที่หลากหลาย คือ มีทั้งเวทีที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ อาทิเช่นการจัดประชุมรูปแบบต่างๆ และเวทีในรูปแบบที่อาจจะไม่เป็นทางการมากนัก คืออาจจัดในลักษณะที่เป็นการรวมตัวของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน หรือทำงานด้านเดียวกัน เป็นการจับกันแบบ หลวมๆคือให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ในภาษาอังกฤษเรียกการ ชุมนุม ของคนกลุ่มต่างๆนี้ว่า Community of Practices หรือเรียกสั้นๆว่า “CoPs” ตามจริงแล้ว การสร้าง CoPs ให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่นั้น สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องพยายามสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด การที่ CoPs ประกอบด้วยคนที่มีพื้นฐานและประสบการณ์หลากหลายจะทำให้ได้มุมมองที่ค่อนข้างเปิดกว้าง แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ จะต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายนี้ด้วย โดยที่ทุกคนจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ไปกันคนละทิศคนละทาง กำหนดเป็นหลักการได้ว่า ความคิดเห็นจำเป็นต้องหลากหลาย แต่เป้าหมายจะต้องเป็นหนึ่งเดียว ความคิดเห็นที่หลากหลายนี้จะเป็นหัวเชื้อสำคัญที่ทำให้เกิดพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่สำคัญก็คือ คนที่มารวมตัวกันนี้จะต้องรู้สึกอิสระและปลอดภัย ความเป็นอิสระ และความรู้สึกปลอดภัย จะทำให้คนเชื่อใจกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน ทำให้พร้อมที่จะแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เวทีดังกล่าวนี้เป็นได้ทั้งพื้นที่ทางกายภาพ (physical space) ที่คนสามารถเข้ามาพบปะ พูดคุย ประชุมกัน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ หรืออาจจะเป็นพื้นที่เสมือน (virtual space) ที่สร้างขึ้นมาโดยอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (internet) ก็ได้ อาทิเช่น การใช้ e-mail loop, web board หรือ web blog  จริงๆแล้วเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (Information & Communication Technology) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ICT”  นั้นเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างทรงพลังอย่างยิ่งในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการใช้ internet/ search engine และการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ICT นั้นอาจช่วยได้ในเรื่อง “to know” หรือ การรู้ แต่อาจจะไม่สามารถช่วยเรื่อง “to learn” หรือ การเรียนรู้ ได้มากนักเพราะเรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคน เป็นกระบวนการที่ต้องผ่านคนเป็นหลัก คนหลายคนยังสับสนแยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่เราเรียกว่า รู้ ซึ่งก็คือ to know” กับการเรียนรู้  ซึ่งก็คือ “to learn” การรู้กับการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน การรู้ หรือ to know เป็นการมองภายใต้กระบวนทัศน์เดิม คือเป็นการมองแบบ supply–side มองเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการให้รู้ จึง supply ให้ ในขณะที่การเรียนรู้หรือ to learn นั้นเป็นการมองภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ ภายใต้มุมมองแบบ demand–side เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับการที่ได้ ทำจริง เป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ (learning by doing) เมื่อได้ทำ ก็ทำให้ได้ รู้จริง หรือเมื่อทำไปเรื่อยๆก็อาจจะ รู้แจ้ง ได้ ไปในที่สุด จุดแข็งของ ICT นั้นอยู่ตรงที่สามารถสร้างเครือข่ายที่กว้างไกลและสามารถขยายไปได้อย่างรวดเร็ว การสร้างเวทีเสมือนบนเครือข่าย ICT จึงเป็นเวทีที่ทำให้ผู้สนใจเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว ทำให้สามารถขยาย การรู้ หรือ to know นี้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง โจทย์ที่เหลืออยู่ก็คือ จะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ที่ได้รู้เหล่านี้เดินต่อไปจนถึงขั้นที่จะลองนำมาปฏิบัติ เพื่อจะได้เกิดความชัดเจนเกิดเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงต่อไป ขอย้ำอีกครั้งว่า ICT นั้นเป็นเครื่องมือ ที่ทรงพลังในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ แต่ ICT มิใช่ เป้าหมาย ICT มิได้เป็นตัวนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างที่หลายคนเข้าใจ

                ปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สามที่จำเป็นสำหรับสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ นอกเหนือจากที่ต้องมี เวลา มีพื้นที่หรือเวทีให้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ไมตรี คือต้อง มีใจ ให้แก่กันและกันด้วย ท่านลองหลับตานึกดูก็แล้วกันว่า ถ้ามีเวลาให้ และมีการจัดสรรพื้นที่ให้พบปะพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันแล้ว หากแต่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีใจที่ปิดกั้น คับแคบ เต็มไปด้วยอัตตา (ego) มีอคติ (bias) แล้วจะเกิดอะไรขึ้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้คงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน นวัตกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จึงจำเป็นต้องอาศัยใจที่เปิดกว้าง ต้องเป็น ใจที่ว่าง ว่างพอที่จะพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะ น้ำชาล้นถ้วย คือไม่สามารถรับอะไรใหม่ลงไปได้อีกเลย นอกจากนั้นใจที่ว่างยังหมายถึงการที่ไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเก่าๆ จะต้องพัฒนาให้คนมีความสามารถที่จะ ลอกทิ้งสิ่งเก่าๆ คือมีทักษะที่จะ “unlearn” ได้ด้วย ใจที่ปล่อยวาง จะเป็นใจที่ไม่อคติ จะมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัจจุบันขณะ เห็นทุกอย่างในลักษณะที่ ใหม่หมด สดเสมอ เพราะเป็นการเห็นด้วยความระลึกรู้ด้วยความรู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังเห็นนั้นเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ซ้ำกับสิ่งที่ได้เกิดไปแล้วในอดีต เป็นความรู้สึกที่ตื่น ชื่นบาน ต้องการแบ่งปัน และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

                การศึกษาที่แท้นั้น จะไม่มองผู้เรียนเปรียบดั่งเป็นถังน้ำ และมองบทบาทของครูผู้สอนว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่เติมน้ำให้เต็มถัง ซึ่งก็จะเป็นการมองแบบ supply–side หากแต่ต้องมองว่าหน้าที่ของครูอาจารย์นั้นจริงๆแล้วก็คือผู้ที่จุดไฟแห่งความใฝ่รู้ให้กับผู้ที่เป็นศิษย์ ทำให้ศิษย์เกิดฉันทะมีความต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนอย่างไม่จบสิ้น เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าพ่อครัวจะเก่งกาจในฝีมือปรุงอาหารสักเพียงใด หากผู้ที่รับประทานไม่หิวแล้ว อาหารมือนั้นก็คงจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้น่าจะอยู่ตรงที่ว่า เราจะต้องทำอย่างไรให้คนหิวกระหายและใคร่ที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การสร้างฉันทะ สร้างความต้องการที่จะพัฒนางาน พัฒนาชีวิตให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เท่ากับเป็นการสร้างdemand สร้างแรงดึง (pull) อันนำไปสู่การเรียนรู้ชนิดที่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะต้องรู้จัก บริหารความว่าง คือต้องไม่ลืมที่จะจัดเวลา หาเวลาว่าง เตรียมพื้นที่ หาที่ว่าง ไว้สำหรับใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือจะต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาใจให้รู้จักการปล่อยวาง และว่างพอที่จะรู้สึกและเข้าใจในคุณค่าของสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราอยู่ในขณะนี้

อ้างอิง :

ประพนธ์  ผาสุขยืด. นวัตกรรมการเรียนรู้. [ออนไลน์], [ม.ป.ป.]. เข้าถึงได้จาก: www.vet.cmu.ac.th/KM/document/LearnInnovation.doc. [25 มีนาคม 2554]

Explicit Knowledge & Tacit Knowledge

สิ่งที่แตกต่างระหว่างความรู้สองประเภท
ในเชิงปฏิบัติการที่มักจะมีการแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้:
ความรู้ประเภทแรกเป็นความรู้ที่เห็นได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม เป็นความรู้ที่อยู่ในตํารับตํารา เช่น พวกหลักวิชา หรือทฤษฏีทั้งหลาย อันได้มาจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผ่านกระบวนการพิสูจน์ ผ่านกระบวนการวิจัย เรามักเรียกกันทั่วๆ ไปว่าเป็น ความรู้ชัดแจ้งหรือ “Explicit Knowledge”
ความรู้ประเภทสอง :  เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) เป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่ชัด เป็นความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ บ้างก็จัดว่าเป็น เคล็ดวิชาเป็น ภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มาจากการใช้วิจารณญาณ ปฏิภาณไหวพริบ  เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน ถึงแม้ความรู้ประเภทที่สองนี้จะเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนความรู้ประเภทแรก แต่ก็เป็นสิ่งสําคัญที่ทำให้งานบรรลุผลสําเร็จได้เช่นกัน

ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างความรู้ 2 ประเภทนี้
Explicit Knowledge
Tacit Knowledge
วิชาการ หลักวิชา
ภูมิปัญญา เคล็ดวิชา
ทฤษฏี(Theory) ปริยัติ
ปฏิบัติ(Practice) ประสบการณ์
มาจากการสังเคราะห์ วิจัยใช้สมอง (Intellectual)
มาจากวิจารณญาณใช้ปฏิภาณ (Intelligence)
เป็นกฎเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนที่ผ่านการพิสูจน์
เป็นเทคนิคเฉพาะตัว เป็นลูกเล่นของแต่ละคน

ผลการวิจัยในต่างประเทศเคยสรุปสัดส่วนของความรู้สองประเภทนี้ว่า ความรู้ที่เป็นหลักวิชาที่ต้องผ่านการพิสูจน์ หรือเขียนออกมาเป็นทฤษฏีนั้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน หากเปรียบกับภูเขานํ้าแข็ง (ตามรูป) ความรู้ส่วนที่เป็น Explicit Knowledge  นั้นจะเห็นได้ง่าย  คล้ายกับส่วนยอดของภูเขานํ้าแข็งที่อยู่พ้นนํ้า  แต่ความรู้ส่วนที่เป็น Tacit Knowledge  นั้นแฝงอยู่ในตัวคน ทำให้มองไม่เห็น เปรียบได้กับส่วนของภูเขานํ้าแข็งที่จมใต้นํ้า ซึ่งถ้านํามาเทียบกันแล้ว จะพบว่ามีปริมาณมากกว่าส่วนที่พ้นนํ้าค่อนข้างมาก
การที่เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างความรู้ทั้งสองประเภทนี้ จะทำให้เราเข้าใจความหมายของคําว่า จัดการ” ได้ชัดเจนดียิ่งขึ้น คุณลักษณะของความรู้สองประเภทนี้แตกต่างกันค่อนข้างจะมาก จะเห็นได้ว่า “ความรู้แจ้ง (Explicit knowledge)  นั้นเป็นความรู้ที่ได้มาจากการทดลอง  ได้มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เป็นความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์ (Proven Knowledge) เป็นความรู้ที่ถูกทําให้กลายเป็นเรื่อง ทั่วไป (Generalize)”  ไม่ติดอยู่ในบริบทใดบริบทหนึ่ง ในขณะที่ “ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)  นั้นมีคุณลักษณะที่เรียกได้ว่าค่อนข้างจะตรงกันข้าม  คือมีลักษณะเป็น เคล็ดวิชาเป็นสิ่งที่ได้มาสดๆมีบริบท (Context) ติดอยู่ ยังไม่ได้ถูก “Generalize” ยังไม่ได้ ถูกปรุง”  แต่อย่างใด


อ้างอิง :
Explicit Knowledge & Tacit Knowledge. [ออนไลน์], [ม.ป.ป.]. เข้าถึงได้จาก : pharm.kku.ac.th/km/pdf/kmpr3.pdf.  [ 31 มีนาคม 2554].

Making Knowledge Management System an Effective Tool for Learning and Traning :page137-138

ระบบจะอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างการดำเนินการเรียน, ความตั้งใจและทฤษฎีพื้นฐาน (Land & Hannafin, 1996; Schwartz et al., 1999) แต่การใช้เพียงเครื่องมือกับแหล่งทรัพยากรและความคิดเห็นนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการกระทำที่ใช้ความคิดและการพัฒนาทฤษฎี ผู้ใช้ต้องคิดและทำด้วยความตั้งใจที่จะสร้างและแก้ปัญหาความคิด รวมถึงการทดสอบและการแสวงหาความคิดเห็นของวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจของพวกเขา (Land & Hannafin, 1996)

การเข้าถึงอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องช่วยนำทาง
ในระบบ KM การนำทางเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ผู้ใช้ได้ย้ายไปยังเป้าหมายในพื้นที่ที่ข้อมูลครอบคลุมถึง ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงเส้นทาง แต่ยังรวมถึงการสร้างแบบจำลองของโครงสร้างความรู้ นั่นคือมีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างการควบคุม เพื่อการเรียนรู้และการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ (Burk et al., 1998; Choi & Hannafin, 1995) ผู้ใช้ที่ถูกกระตุ้นให้แสดงความยากลำบากของพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลและมีการปฏิบัติน้อยลง โดยเป้าหมายในวงกว้างทางการเรียนรู้ที่ควรเน้น อาจจะหายไปในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ไม่สามารถที่จะเข้าใจข้อมูลที่นำเสนอและทราบว่าข้อมูลใดเป็นสิ่งจำเป็น หรือสถานที่ที่จะค้นหา (Chiu & Wang, 2000; Lawless & Brown, 1997) การนำทางที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีความสอดคล้องระหว่างการแสดงทางกายภาพของโลกและการแสดงทางจิตของผู้เรียนทั่วโลก (Tripp & Roby, 1990) Shasta (1986) ชี้ว่าการเคลื่อนไหวผ่านระบบมัลติมีเดียจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัด โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างการควบคุมความคิด ดังนั้นเมื่อใช้มัลติมีเดียหรือระบบ Web - based โดยลักษณะการทำงานมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น entropic มีเป้าหมายน้อย จะถูกกระตุ้นและล่อใจเพราะโอกาสมากมายในการนำเสนอโดยระบบ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยการนำทาง ทั้งการส่งเสริมพฤติกรรม การอธิบายเพิ่มเติม หรือการโต้ตอบกับผู้ใช้ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมผู้เรียน (Burke et al., 1998)
โดยทั่วไปไม่มีการให้เครื่องช่วยนำทาง ซึ่งในความเป็นจริงปรากฏว่าประเภทต่างๆ ของเครื่องช่วยนำทางสามารถเป็นเครื่องมือการจัดการที่มีคุณค่าทางปัญญาสำหรับการขับเครื่องบินและการสำรวจมัลติมีเดีย มีช่องว่างที่มากมายของข้อมูล เช่น ระยะเวลา กราฟ แผนที่นำทาง ลำดับการเล่าเรื่องที่ดัชนีของข้อมูลในโปรแกรม คำแนะนำในข้อความซึ่งเป็นเครื่องมือแนะนำ (คำแนะนำเช่นการที่เป็นคนต่อไปในโปรแกรม) และแผนผังมโนทัศน์แสดงโครงสร้างหน่วยหรือความรู้ในโดเมน (Chin & Wang, 2000; Scardamalia et al., 1989; Trumbull et al., 1992; Vargas & Alavaz, 1992) ผลของคำแนะนำแผนที่ใยแมงมุมและแผนที่ลำดับชั้นในหลายมิติได้จัดลำดับชั้น จากการได้รับการศึกษาและผลการศึกษาพบว่าผู้เรียนโดยใช้แผนที่ลำดับชั้นรู้สึก disoriented น้อยกว่าการใช้คำแนะนำ (Beasley & Waugh, 1995) และยังพบว่าแผนที่โลกที่แสดงโครงสร้างความรู้ทั้งลำดับชั้นได้ลดขั้นตอนการค้นหาจากผู้เรียน; ซึ่งก็คือแผนที่ขนาดใหญ่ (Chiu & Wang, 2000) แต่งานวิจัยอื่นๆ พบว่าแผนที่ไม่จำเป็นต้องช่วยนำทางและลด disorientation เนื่องจากการเพิ่มขึ้นบวกกับความรู้ความเข้าใจในการใช้แผนที่ (Stanton et al., 1992)
ในทางกลับกันแผนที่ให้มุมมองที่อุดมไปด้วยความรู้และความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่างแนวคิดและพวกเขามีวิธีที่เป็นประโยชน์ในการประเมินในระดับต่างๆ จากความเข้าใจและการเจริญเติบโตทางปัญญา (Cliburn, 1990) แนวความคิดเป็นแผนภาพแผนที่ซึ่งระบุองค์กรของบทเรียนหรือความรู้ในโดเมน (Vargas & Alartz, 1992) พวกเขาต้องแสดงถึงหลักทั้งสองด้านของแนวความคิดตลอดจนความสัมพันธ์ของแนวความคิดของพวกเขา ซึ่งก็คือความรู้เดิมโดยจะกำหนดจุดและการเชื่อมโยงให้สอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนความพยายามของผู้เรียนในการนำทาง (Park & Hannafin, 1993) เช่น คู่มือที่มีประสิทธิภาพสามารถทำงานเป็นแผนดึงความรู้เดิมที่เก็บไว้เป็นความรู้ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการดึงเนื้อหาที่ปกครอง (Hooper & Hannafin, 1991) อาจจะใช้ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มความรู้และประสบการณ์ (Hooper & Hannafin, 1991) และความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างการควบคุม (CTGV, 1993) ซึ่งมักจะขาดในผู้ใช้ที่มีปัญหาการเรียน

การสนทนา
หกปัจจัยที่กล่าวถึง คือ สื่อจากการนำเสนอมุมมองหลายความซับซ้อนของการควบคุมผู้ใช้การสนับสนุนทางออนไลน์และช่วยนำทาง ในอิทธิพลของพวกเขาในการจัดการความรู้จากความเห็นการเรียนรู้ มีวิธีการดำเนินการต่างๆ จากแต่ละปัจจัยที่ยังมีฐานการพัฒนา ในอนาคตแต่ละโครงสร้างปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าครบถ้วนสมบูรณ์ แต่พวกเขาจะดึงจากหลากหลายทฤษฎีจากการเรียนรู้แนวทางและวิธีปฏิบัติ ในส่วนต่อไปนี้สัมพันธ์อย่างยิ่งกับผลกระทบแทรกแซงระหว่างปัจจัยเหล่านี้จะถูกกล่าวถึง ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง

ผู้เรียบเรียง :  นางสาวอทิติยา สวยรูป  "5210602443"